ประวัติ

จางวางเอกพระยาพฤติคุณธนะเชษ

ผู้สร้างเมืองมัญจาคีรี และ รองอำมาตย์เอกพระเกษตรวัฒนา

 

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ จีนฮ่อยกทัพมารุกรานหัวเมืองลาวจนถึงชายแดนไทยจึงได้มีการรวบรวมทหารและขุนศึกจากหัวเมืองไปช่วยรบเมืองขอนแก่น โดยพระนครศรีบริรักษ์ (ท้าวมุ่ง) ได้ส่งราชบุตร (ท้าวอู๋) ไปช่วยรบใน พ.ศ. ๒๔๘๑ ราชบุตรเมืองขอนแก่น (ท้าวอู๋) ได้ทำความดีความชอบ โดยช่วยรบปราบศึกฮ่อที่มารุกรานเวียงจันทน์และหัวเมืองลาวด้านเหนือจนได้ชัยชนะ

จนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๐ หลังจากการแต่งตั้งราชบุตรเมืองขอนแก่น (ท้าวอู๋) เป็นพระศรีบริรักษ์บรมราชภักดีสุนทร เป็นเจ้าเมืองขอนแก่น โดยยกย่องราชบุตรซึ่งอยู่ที่บ้านดอนบมขึ้นเป็นเมืองขอนแก่นในขณะที่พระนครศรีบริรักษ์ (ท้าวมุ่ง) เจ้าเมืองคนเก่าตั้งเมืองที่บ้านโนนทัน ห่างกันเพียง ๖ กิโลเมตร การปกครองเมืองขอนแก่นให้แบ่งประชาชนกันคนละครึ่ง จึงเกิดความวุ่นวายกันทั่วไป เกิดกรณีพิพาทกันหลายเรื่อง ส่วนใหญ่จะเป็นการแย่งชิงประชาชนและเขตแดนกันจน พ.ศ. ๒๔๒๔ อุปราชฝ่ายเมืองเดิมถึงแก่อสัญกรรม พระนครศรีบริรักษ์ (ท้าวมุ่ง) ขอพระราชทานเลื่อนราชวงษ์ขึ้นเป็นอุปราชก็ไม่ทรงโปรดเกล้าฯ ฝ่ายเมืองใหม่ พระนครศรีบริรักษ์ (ท้าวมุ่ง) ขอพระราชทานแต่งตั้งตำแหน่งอุปราชและราชวงษ์ก็ไม่ทรงแต่งตั้ง

พ.ศ. ๒๔๒๔ พระนครศรีบริรักษ์ (ท้าวมุ่ง) ถึงแก่อนิจกรรมราชวงษ์ที่อุปราชและข้าราชการ ได้ย้ายที่ทำการเมืองไปอยู่ที่บ้านทุ่ม เพราะมีประชาชนอยู่หนาแน่นและเป็นเส้นทางคมนาคมระหว่างกรุงเทพฯ กับหนองคาย หารบริหารบ้านเมืองขอนแก่นจึงยิ่งลำบากมากขึ้นเมื่อฝ่ายเมืองเดิมไม่เข้าร่วมกิจกรรมกับฝ่ายเมืองใหม่ ทางกรุงเทพฯ จึงได้แจ้งทั้งสองฝ่ายไม่ให้บังคับประชาชน โดยประชาชนจะอยู่กับฝ่ายเมืองใดให้เลือกอยู่ได้ตามความสบายใจ พระนครศรีบริรักษ์ (ท้าวมุ่ง) พยายามที่จะให้เมืองขอนแก่นรวมป็นเมืองเดียวกัน เพื่อบีบรัดฝ่ายเมืองเดิมที่ตั้งอยู่บ้านทุ่มไม่ให้ขยายอาณาเขตออกไปทางด้านทิศตะวันตก ซึ่งมีประชาชนอยู่กันหนาแน่น จึงได้ขอพระราชทานยกบ้านภูเม็งขึ้นเป็นเมืองให้ขึ้นกับเมืองขอนแก่น ดังเอกสารใบบอก หนังสือราชการจากกรุงเพทฯ ที่กล่าวถึงการตั้งเมืองมัญจาคีรี กล่าวไว้ดังนี้

ที่ ๕ เมืองขอนแก่น ๒ ศาลาลูกขุนในฝ่ายซ้าย ที่ว่าการกรมมหาดไทย วันที่ ๓๑ พฤษภาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๐๘ สารตราเจ้าพระยาจักรีฯ มาถึงพระนครภักดีศรีบริรักษ์เจ้าเมือง อุปราช ราชวงษ์ ราชบุตร ท้าวเพีย เมืองขอนแก่นด้วยมีใบบอกลงเมื่อ ณ ปีมะเส็งตรีศก ว่าบ้านภูเม็ง ทิศตะวันตกเมืองขอนแก่น เขตกว้างขวาง ไพร่ฟ้าพลเมืองมีมากสมควรจะตั้งเป็นเมืองได้ ขอรับพระราชทานยกบ้านภูเม็งเป็นเมืองขึ้นกับเมืองขอนแก่น ขอเท้าบุตรเจ้าเมืองรับราชการฉลองพระเดชพระคุณรักษาบ้านเมืองขอบขัณฑสีมาต่อไป โดยนำใบบอกขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบฝ่าละอองแล้ว และมีพระบรมราชโองการมาพระบัญทูรสุรสิงหนาถดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า

“เมืองขอนแก่นเขตกว้างขวางไพร่ฟ้าพลเมืองมีมากซึ่งพระนครศรีบริรักษ์ ยกบ้านภูเม็งเป็นเมือง โดยมีท้าวบุตรเป็นเจ้าเมือง ได้ขนานนามบ้านภูเม็งเป็นเมืองมัญจาคีรี พระราชทานนามสัญบัตรประทับตราพระราชรัญกรณ์ ขอแต่งตั้งท้าวบุตรเป็นพระเกษตรวัฒนา (สน) เป็นเจ้าเมืองตั้งแต่ ณ วันพฤหัสบดี แรม ๖ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะเส็งตรีศก จุลศักราช ๑๒๔๓ (พ.ศ. ๒๔๒๔)”

ทางราชการสำนักได้พิจารณาตั้งชื่อบ้านเมือง โดยจากลักษณะภูมิศาสตร์ของบริเวณนั้นแล้วใช้คำบาลีสันสกฤตประการหนึ่งว่า “เม็ง” เป็นภาษาขอม ตรงกับภาษาบาลีว่า “มัญจา” แปลว่า เตียงหรือที่นอน ส่วนคำว่า “คีรี” แปลว่า “ภูเขา” “บ้านภูเม็ง” จึงได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น “เมืองมัญจาคีรี” รวมความแล้ว “มัญจาคีรี” แปลว่า “ภูเขาที่มีรูปร่างคล้างเตียง” ดั้งนั้นเมืองมัญจาคีรีจึงมีฐานะเป็นเมืองในปีมะเส็ง ตรีศก จุลศักราช ๑๒๔๓ ซึ่งตรงกับ ฑ.ศ. ๒๔๒๔

พระเกษตรวัฒนา (สน) เห็นว่าบ้านภูเม็งไม่เหมาะกับการตั้งเมือง เนื่องจากขาดแหล่งน้ำและที่เพาะปลูก ประกอบกับภูมิประเทศไม่สามารถขยายเมืองได้ และเกิดโรคระบาด พระเกษตรวัฒนา (สน) จึงย้ายมาตั้งเมืองในระยะแรกที่บ้านจระเข้หัวนา (ปัจจุบันคือ บ้านจระเข้ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น) ซึ่งอุดมสมบูรณ์ และมีอาณาเขตกว้างขวาง ครั้นต่อมาได้ทราบว่าบริเวณริมบึงกุดเค้าอุดมสมบูรณ์กว่า ซึ่งมีแหล่งน้ำตลอกทั้งปี จึงอพยพมาตามลำห้วยปากดาวจนกระทั้งมาตั้งเมืองอยู่ที่บ้านสวนหม่อน ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๓๐ ระยะทางจากบ้านจระเข้หัวนาถึงบ้านสวนหม่อน ประมาณ ๑,๐๐๐ เส้น (๔๐ กิโลเมตร) ซึ่งบริเวณนั่นเมื่อถึงหน้าฝนมีน้ำไหลหลากมากจากภูเขาที่อยู่ทางทิศตะวันตก ท่วมบ้านเรือนและที่ทำกิน ทำให้สัตว์เลี้ยงและข้าวในนาเสียหาย จนถึง พ.ศ. ๒๔๓๒ จึงย้ายที่ทำการเมืองมัญจาคีรีมาตั้งที่ดอนเหมือดแอ่ (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งโรงพยาบาลอำเภอมัญจาคีรี) ระยะทางห่างจากบ้านสวหน่อนประมาณ ๗๕ เส้น (๓ กิโลเตร) ต่อมาได้พิจารณาเห็นว่าถ้าสร้างเมืองบนที่แหล่งนั้นจะทำให้ไม่มีสถานที่ในการทำป่าช้าทางทิศตะวันออกของเมืองซึ่งเป็นที่ลุ่มเมือฝนตกลงมาก็จะชะล้างป่าช้าลงสู่หนองน้ำที่ใช้อุปโภคบริโภคสมัยนั้นต้องมีป่าช้าควบคู่ไปกับเมืองเพื่ออยู่อาศัยใหม่ จึงได้พบเนินสูงใกล้หนองน้ำ (ริมบึงกุดเค้า) ทางทิศตะวันออกเรียกว่าโนนดอนทัน ซึ่งเป็นทำเลดีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ จึงได้ย้ายมาตั้งเมืองมัญจาคีรีตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๓๔ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนดอนเหมือนแอ่ที่ตั้งเมืองเดิมก็ทำเป็นสถานที่ป่าช้า

พระเกษตรวัฒนา (สน) ปฏิบัติงานสนองพระเดจพระคุณพระเจ้าอยู่หัวมิได้ขาดตกบกพร่อง ทั้งนี้มีรองเจ้าเมืองช่วยงานเพียงตำแหน่งเดียวคือ ราชวงษ์ แต่มีความสามารถในการหาชายฉกรรจ์ที่ยังไม่มีสังกัดได้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งเนื่องจากพระเกษตรวัฒนา (สน) เป็นผู้มีความสามารถในการสู้รบ ทำให้ผู้คนอพยพมาอยู่เมืองมัญจาคีรีเพิ่มมากขึ้นส่งผลให้เก็บส่วยได้มากขึ้น นอกจากนี้พระเกษตรวัฒนา (สน) ยังได้นำไพร่พลและชายฉกรรจ์ชาวมัญจาคีรีเข้าร่วมสงครามปราบฮ่อคั้งที่ ๒ ที่ทุ่งเชียงคำ (ไหหิน)ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๓๔ – ๒๔๓๖ ซึ่งถือเป็นความดีความชอบที่ปรากฏอย่างเด่นชัดจึงได้รับบรรดาศักดิ์โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) โปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง “จางวางเอกพระยาพฤติคุณธนะเชษ” ซึ่งทำหน้าที่ปกครองเมืองมัญจาคีรี โดยบรรดาศักดิ์ “จางวางเอก” นับตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ หมายถึง หัวหน้ามหาดเล็กในพระบรมมหาราชวัง หรือเจ้านายต่างกรม ลำดับชั้นยศเทียบเท่ามหาอำมาตย์เอกในสมัยต่อมา ส่วนบรรดาศักดิ์ของเจ้าเมืองในสมัยนั้น ถ้าเป็นเมืองเล็กจะเป็น “พระ” ถ้าเป็นเมืองใหญ่จะเป็น “พระยา” กรณีที่เกษตรวัฒนา (สน) เจ้าเมืองมัญจาคีรีได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “จางวางเอกพระยาพฤติคุณธนะเชษ” จึงถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้โดยจางวางเอกพระยาพฤติคุณธนะเชษได้ทำหน้าที่ปกครองเมืองมัญจาคีรีจนชราภาพ และถึงแกอนิจกรรมในปี พ.ศ. ๒๔๓๔

จางวางเอกพระยาพฤติคุณธนะเชษ สมรสกับ นางสี มีบุตรรวมกับ ๒ คน คือ พระเกษตรวัฒนา (โส) และขุนชอุ่ม หลังจากจางวางเอกพระยาพฤติคุณธนะเชษถึงแก่อนิจกรรมท้าวโส (บุตรชายคนที่ ๑) ซึ่งได้เข้ารับราชการเมื่อาย ๒๙ ปี ในตำแหน่งเสมียนกองมหาดไทย จึงได้เดินทางไปยังกรุงเทพฯ เพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อกราบทูลขออนุญาตเป็นเจ้าเมืองมัญจาคีรีสืบต่อจาก จางวางเอก พระยาพฤติคุณธนเชษ ผู้เป็นบิดา ซึ่งขณะนั้น พระองค์กำลังทอดพระเนตรการชกมวยอยู่ และได้ทอดพระเนตเห็นท้าวโส ซึ่งมีท่าทีทะมัดทะแมง หน่วยก้านดี มีท่าทางเป็นนักมวย จึงตรัสถามว่า

“เองเป็นนักมวยหรือ”

ท่าวโสก้มกราบบังคมทูลว่า

“มวยเคยชกมาแล้วหลายครั้งพะยะค่ะ”   

พระเจ้าอยู่หัวสรวลและรับสั่งว่า

“เองขึ้นห้ามมวยคู่นี้ให้ดูหน่อย”

ท้าวโสก้มลงกราบและขึ้นเวทีมวย และห้ามมวยให้พระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตร พระเจ้าอยู่หัวทรงพอพระทัยและเมื่อเสร็จสิ้นการชกมวย จึงกวักพระหัตถ์เรียกท้าวโสเข้าเฝ้าทันที และเอาพระหัตถ์ลูบหัวท้าวโสและตรัสว่า

“เออ… เองเหมาะสมแล้วที่จะเป็นเจ้าเมืองแทนพ่อ”

ต่อมาอีกไม่นาน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งท้าวโสโดยจารึกในสุบรรณบัฏ แต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองมัญจาคีรี โดยพระราชทานนามว่า “พระเกษตรวัฒนา” และพระราชทานเสื้อเครื่องปักดิ้นพร้อมด้วยศาสตราสวุธ ซึ่งเป็นเครื่องประดับยศของเจ้าเมืองหลายอย่าง ได้แก่ หอก หลาว ง้าว

พระเกษตรวัฒนา (โส) ได้ทำหน้าที่เป็นเจ้าเมืองมัญจาคีรีมานานหลายปี และได้รับใช้สนองพระเดชพระคุณพระเจ้าอยู่หัวมาโดยตลอด ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและไม่เคยบกพร่องต่อหน้าที่ จนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ ได้รับการแต่งตั้งเป็น “รองอำมาตย์เอก” ได้รับพระราชทานนามสกุล “สนธิโสมพันธุ์” เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๒ ตามทะเบียนเลขที่ ๔๗๗๖ และในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานสมาชิกสภาจังหวัดขอนแก่นคนแรก โดยได้พัฒนาเมืองมัญจาคีรีให้เจริญรุ่งเรืองตลอดมา และได้ถึงแก่อนิจกรรมในปี พ.ศ. ๒๔๘๙

 

เรียบเรียงจาก หนังสือ รำลึก ๑๓๐ ปี เมืองมัญจาคีรี

ที่ระลึกในพิธีเชิญรูปหล่อ จางวางเอกพระยาพฤติคุณธนะเชษ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๔  จัดทำโดยสภาวัฒนธรรมอำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น กระทรวงวัฒนธรรม  คณะผู้จัดทำเอกสาร นายสกล เทียนคำ นายสนั่น สนธิโสมพันธุ์   นางพิกุล เทียนคำ และคณะ